bangkok news
สรุป “7 วันอันตราย” ช่วงปีใหม่ 2567
สรุป “7 วันอันตราย” ปีใหม่ 2567 คดีคุมประพฤติ 7,864 คดี กทม.แชมป์ 469 คดี นครพนม 351 คดี และหนองคาย 328 คดี ตามลำดับ
วันนี้ (5 ม.ค.) นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ มอบหมายให้นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ แถลงสรุปปิดยอดสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในวันสุดท้ายของ 7 วัน ควบคุมเข้มข้นปีใหม่ 2567 (4 ม.ค.67) สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวนทั้งสิ้น 1,150 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.65 คดีขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 และคดีขับเสพ 49 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.26 ยอดสะสม 7 วัน (29 ธ.ค.66-4 ม.ค.67) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,102 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 7,864 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.06 , คดีขับรถประมาท 5 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.06 และคดีขับเสพ 233 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.88
จังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 469 คดี นครพนม จำนวน 351 คดี และหนองคาย จำนวน 328 คดี
สรุป “7 วันอันตราย” ช่วงปีใหม่ 2567
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี พ.ศ.2566 มีจำนวน 8,567 คดี กับปี พ.ศ. 2567 จำนวน 7,864 คดี พบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 703 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.2 สำหรับในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจร ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 765 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 28,857 คน
สรุป “7 วันอันตราย” ช่วงปีใหม่ 2567
รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุราจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำหรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมต่อไป.-119- สำนักข่าวไทย
ข่าวที่กำลังมาแรง
พรรคก้าวไปข้างหน้า ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลในกัมพูชา
นายกรัฐมนตรีไทยจะเดินทางเยือนศรีลังกาในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อลงนาม FTA
นักท่องเที่ยวสาวชาวไทย 30 คน ถูกจับฐานทำงานผิดกฎหมายในคลับไต้หวัน