Chiang Rai News
รถบรรทุกขนตะกอนต่อสู้เพื่อกำจัดตะกอนออกจากท่อระบายน้ำในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เชียงราย – ความคืบหน้าการฟื้นฟูน้ำท่วมในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เดินหน้านำรถดูดโคลนและน้ำเข้าดูดโคลนจากท่อระบายน้ำในพื้นที่ชุมชนต่างๆ
สำหรับชุมชนเกาะทรายและไม้ลุงขัน ยังคงมีโคลนสะสมอยู่ในท่อระบายน้ำจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำได้ หากเกิดฝนตกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงวันที่ 2-5 พ.ย. อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่น้ำท่วมได้ เจ้าหน้าที่เน้นเปิดฝาท่อระบายน้ำและดูดโคลนตามถนนสายหลักทีละแห่ง ก่อนไปดูดโคลนตามตรอกซอกซอยที่รถดูดโคลนเข้าถึงได้ในภายหลัง
นายสิริชัย สุขนิล พนักงานขับรถจักรกล อบจ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ทางทีมงานได้เข้ามาช่วยดูดโคลนเลนในพื้นที่แม่สายมานานกว่า 1 เดือน ตั้งแต่หลังน้ำลด โดยมีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานจำนวน 28 คน รถดูดโคลน 2 คันและรถบรรทุกน้ำอีก 3 คัน แม้ทางกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมจะมีการส่งมอบคืนพื้นที่แต่ก็เป็นในส่วนของพื้นผิวถนนและบ้านเรือนประชาชน ในส่วนของท่อระบายน้ำยังมีดินโคลนอุดตันจำนวนมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนานนับเดือน เนื่องจากนอกจากจะมีดินโคลนจำนวน ท่อระบายน้ำหลายจุดมีรอยแตกและทรุดตัว อีกทั้งยังเป็นโคลนเลนทราย ทำให้เมื่อน้ำแห้งเกิดการจับตัวแข็งไวทำให้ยากต่อการดูดโคลนออก โดยคาดว่าทางทีมจะอยู่ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน
ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางภาคเอกชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของร้านขายอุปกรณ์เสริมสวย อาทิ ร้านเจแอนด์บีเทรดิ้ง ประตูน้ำ ร้านสหพัฒบิวตี้ ศรีราชา และบริษัท farger (ขายสีย้อมผม) ได้ร่วมกับกลุ่มช่างผมในจังหวัดเชียงราย นำอุปกรณ์สำหรับทำผม ช่วยเยียวยา ช่วยเหลือพี่น้องชาวช่างเสริมสวยที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ทั้งที่เขตตัวเมืองเชียงรายและพื้นที่ชายแดนแม่สาย โดยสิ่งที่น้ำมาแจก เป็นอุปกรณ์เกี่ยวร้านทำผม เช่น สีย้อมผม เตียงสระผม เก้าอี้ตัดผม กรรไกรตัดผม และสิ่งที่ใช้ประกอบอาชีพเสริมสวยพร้อมเงินบริจาคจำนวนหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระดมกำลังเข้าทำการสำรวจพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาการดำเนินการแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะแผนของกระทรวงมหาดไทยที่จะให้มีการเวณคืนที่ดินริมแม่น้ำสายตลอดแนว ตั้งแต่ชุมชนถ้ำผาจม บริเวณตลาดสายลมจอย ยาวมาถึงชุมชนเกราะทราย และชุมชนไม้ลุงขน ระยะทางประมาณ 40 เมตร โดยให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองศึกษาผลกระทบและแผนดำเนินการ
นายธนวัฒน์ ธีรัตนชัย ผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะทราย กล่าวว่า เฉพาะชุมชนเกราะทรายมีประชากรทั้งที่มีบัตรประชาชนและไม่มีบัตรจำนวนประมาณกว่า 2,000 คน มีเนื้อที่รวมประมาณ 75 ไร่ บ้านเรือนประมาณ 650 หลังคาเรือน ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้าง ซึ่งสภาพทางกายภาพจะเป็นชุมชนที่มีบ้านอยู่ติดและขนาบลำน้ำสายอยู่แล้ว ซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคนไม่ต่ำกว่า 60-70 ปีแล้ว ทำให้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งการสำรวจครั้งนี้เป็นเพียงสำรวจจำนวนบ้านเรือนและจำนวนประชาชนที่ชัดเจน เพื่อให้ทางอำเภอและกระทรวงได้รับทราบ ไม่ได้เป็นสำรวจชี้แนวเขต ซึ่งจะเป็นส่วนงานอื่น หากได้ข้อมูลก็จะได้แจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบ ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องนี้แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ทราบข้อมูลบ้างแล้ว
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ริมน้ำสายหลายราย ก็ยังแสดงความกังวลในเรื่องที่อยู่อาศัยในอนาคตหลังการเวนคืนที่ดินเพราะบ้านเรือนริมน้ำสายมีเพียงไม่กี่หลังที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เหลือส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เลย ทำให้อาจไม่ได้รับการช่วยเหลือกรณีของนางสาวขันแก้ว พญาหลวงขันคำ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 80 ซอย14 ชุมชนเกาะทราย บ้านห่างจากน้ำสายเพียง 10 เมตร กล่าวว่า ตนเพิ่งฟื้นฟูบ้านจากน้ำท่วมแล้วเสร็จยังไม่ทันเข้ามาอยู่อาศัย เพราะยังติดปัญหาเรื่องระบบไฟและประปาที่ยังดำเนินการซ่อมแซมติดตั้งไม่แล้วเสร็จ ทรัพย์สินก็ยังไม่จัดซื้อจัดหามาใส่บ้าน ยังมาต้องกังวลกับเรื่องการถูกเวนคืนที่ดินอีก
นางสาวขันแก้ว กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่พร้อมที่จะย้ายออกพื้นที่หากการย้ายเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่รัฐบาลควรที่จะจัดสรรที่ดินหรือสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านได้มีที่อยู่ ซึ่งเป็นไปได้ก็อยากให้ไปอยู่รวมกันเป็นชุมชนคล้ายบ้านจัดสรร แต่หากรัฐบาลให้เพียงค่ารื้อถอนเพราะที่ดินแถวนี้ไม่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ แต่ชาวบ้านก็อยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าทวด เสียชีวิตไปแล้วหลานรุ่น และก็มีการเสียที่ดินกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกปี หากได้แค่นั้นจริงชาวบ้านก็คงไม่เพียงพอที่จะตั้งต้นชีวิตใหม่ อยากให้ทางภาครัฐคิดในส่วนนี้ด้วย หากจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยเป็นกิจลักษณะชาวบ้านจะยกนิ้วให้รัฐบาลและพร้อมจะย้ายกันไปทั้งหมดแน่นอน
ส่วนการฟื้นฟูด้านอื่นๆ ทางนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในส่วนงานออกดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องทั้งการเคลียร์ท่อระบายน้ำและเก็บขยะตามชุมชนและขยะครัวเรือน โดยยืนยันที่จะดำเนินการจนแล้วเสร็จทุกพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งเสร็จเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ครั้งแรกที่คาดว่าจะใช้เวลายาวนานถึง 6 เดือน แต่ด้วยการระดมการช่วยเหลือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม มูนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก และจิตอาสาภาคเอกชนหลายหน่วยงานจึงทำให้การฟื้นฟูได้เสร็จเร็วกว่ากำหนด